วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อบอุ่นใจ อีกครั้ง





อย่ากลับคืนคำ เมื่อเธอย้ำสัญญา
อย่าเปลื่ยนวาจา เมื่อเวลาแปรเปลื่ยนไป
ให้เธอหมายมั่นคง แล้วอย่าหลงไปเชื่อใคร
เดินทางไป อย่าหวั่นใครขวางกั้น
มีดวงตะวัน
ส่องเป็นแสงสีทอง กระจ่างครรลอง ให้ใฝ่ปองและสร้างสรรค์
เมื่อดอกไม้แย้มบาน ให้คนหาญสู้ไม่หวั่น คือรางวัล แด่ความฝันอันยิ่งใหญ่ ให้เธอ
บนทางเดินที่มีขวากหนาม ถ้าเธอคร้ามถอย ไปฉันคงเก้อ
ฉันยังพร้อมช่วยเธอเสมอ เพียงตัวเธอ ไม่หนีไปเสียก่อน
จะปลอบดวงใจ ให้เธอหายร้าวราน จะเป็นสะพาน ให้เธอเดินไปแน่นอน จะเป็นสายน้ำเย็น ดับกระหายยามโหยอ่อน คอยอวยพร
ให้เธอสมดังหวังได้ นิรันดร์

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ไปหาหมอ ที่สมิติเวช





เป็นครั้งแรกที่ไปพบแพทย์ตามนัด แต่กลับมีแพทย์มาพบเป็นจำนวนมาก คราวนี้ทีมงาน ARTFIELD ได้มีโอกาสเข้าไปแลกเปลี่ยนการรักษาทางเลือกที่ใช่ว่าเป็นเพียงแค่ alternative therapy แต่คือ additional therapy ของศิลป์บำบัด(creative therapy) ที่ผสมผสานกันระหว่าง ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด และความเป็นไปได้ของการรักษา เสียงตอบรับแสดงถึงความเป็นไปได้ที่น่าประทับใจ คราวนี้ทางทีมงานนำของเล่นไปเป็นจำนวนมาก ได้เห็นถึงความเป็นศาสตร์และศิลป์ในตัวแพทย์ นานทีจะเห็นเครื่องดนตรี สี และ กระดาษในมือแพทย์ ก็ทำให้บรรยากาศแบบหมอหมอดู มีความน่ารักและขี้เล่นอย่างคาดไม่ถึง หวังว่าการวินิจฉับกระบวนการ ARTFIELD จะเป็นไปได้ด้วยดี เห็นอย่างนี้แล้วผู้ป่วยทั้งหลายคงสบายใจขึ้นที่ในใจคุณหมอๆนั้น ยังมีสีสัน เสียงเพลง และรอยยิ้ม กำลังใจที่ได้จากการรักษาคงเยียวยาได้มิใช่น้อย

วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

The Controversial space: art exhibition at hospital





Others have seen what is and asked why
I have seen what could be and asked why not
Pablo Picasso



วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กำลังใจจากคนแปลกหน้า กิจกรรมศิลปบำบัด โรงพยาบาลกรุงเทพ







ในบางวิถึชีวิตของคนในยุคปัจจุบันนี้ ก็ดำเนินไปโดยยากที่คิดว่าจะได้รับกำลังใจจากคนแปลกหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ เรามักจะเกิดความระแวงหรือไม่ไว้วางใจในคนทั่วๆไปที่เราไม่ได้รู้จักมักคุ้นเสียก่อน แม้แต่คำทักทาย หรือพูดคุยยามพบปะกันก็แทบจะไม่เกิดขึ้นกับผู้คนในเมืองใหญ่ นั่นอาจทำให้เกิดเป็นความคุ้นชินจนแม้กับคนทั่วๆไปที่เรารู้จักกันดีอันนี้ก็เป็นได้ มิใช่เรื่องแปลกแต่ประการใด แต่ความคุ้นชินเช่นนี้ถ้าปล่อยไว้นานๆไป อาจก่อให้เกิดความแปลกแยกโดดเดี่ยวอ้างว้างในจิตใจ ซึ่งมิเป็นผลดีแต่ประการใดต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ชุมชนใดๆ แต่หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมกับ Artfield ศิลป์บำบัดที่จัดองค์ประกอบทางด้านพื้นที่ กิจกรรม เสียงดนตรี และ ศิลปะร่วมกัน จะพบว่าแม้ในเวลาอันสั้น บุคคลที่แทบจะไม่เคยได้รู้จักกันมาก่อนเลยก็สามารถเปิดใจ เปิดรับประสบการณ์ร่วมกัน ทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรอยยิ้มและมิตรไมตรีจิดได้ กำลังใจจากคนแปลกหน้าในช่วงเวลาหนึ่งๆก็ทำให้จิตใจเบิกบานเป็นสุขได้อย่างน่าประหลาดใจ






วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ครั้งหนึ่งในชีวิต ณ หอศิลป์กรุงเทพ












กิจกรรมในครั้งนี้ ทางทีมงานartfield ได้ร่วมกับศูนย์มะเร็ง นำกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและผู้ดูแล ร่วมทำกิจกรรมศิลป์บำบัด ณ หอศิลป์กรุงเทพ ในครั้งนี้มีการแสดงดนตรีร่วมกับการทำศิลปะอย่างเช่นเคย สิ่งที่เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ร่วมกันคงเป็นโอกาสในการได้มารวมตัวกันทำกิจกรรมหลักในพื้นที่เปิดโล่งของห้องแสดงศิลปะ ที่หอศิลป์กรุงเทพซึ่งภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพพ่อหลวงของเรา เป็นประสบการณ์ที่เรียกได้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิต เราก็เคยได้เป็นศิลปินกันจริงๆ ในบรรยากาศและพี้นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในชีวิตทั่วไปของพวกเรา จนคุณป้าคนหนึ่งถึงกับออกปากว่า "รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง ที่ได้มาวาดภาพที่ได้แรงบันดาลใจในหอศิลป์นี้" นั่นเป็นความประทับใจที่มิอาจลืมเลือนของคุณป้าคนนั้น
ในการเปิดกิจกรรมครั้งนี้ มีการนำนักดนตรีและเครื่องดนตรีกีตาร์และเมโลเดียนมาบรรเลงบทเพลง "สุขกันเถอะเรา" เป็นที่น่าประหลาดใจว่าพอดนตรีบรรเลงบรรยากาศรอบๆตัวก็เปลี่ยนไปเป็นความสนุกสนานครื้นเครงได้ในทันที ในการนี้ทางartfieldได้จัดเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ เครื่องเคาะ เขย่า ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมใช้บรรเลงร่วมไปกับดนตรีเป็นที่สนุกสนานกันมาก ครื้นเครงกันได้พอสมควรเราก็ย้ายกิจกรรมไปรวมตัวกันที่ห้องจัดแสดงศิลปะ หัวข้อในการวาดภาพในวันนี้เกี่ยกับ "ศรัทธา" ความเชื่อที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความเชื่อทั่วๆไป แต่เป็นความรู้สึกที่เป็นเหมือนแรงขับเคลื่อนในชีวิตในทางสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ซึ่งทุกๆคนไม่ได้ให้เป็นแต่เพียงความหมายอันลึกซึ้งในการวาดภาพในวันนั้น ทั้งยังเป็นแรงศรัทธาต่อชีวิตที่ยังดำรงอยู่ต่อไปอีกด้วย ดังเช่นภาพวาดหลายภาพที่มีศรัทธาต่อพ่อหลวงของเรา ต่อการดำเนินชีวิตที่ดีงามของบุคคลใดๆ ต่อการสรรค์สร้างของธรรมชาติ การหายจากการเจ็บป่วยฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งดีงามที่การระลึกถึงบ้างเป็นบางช่วงเวลาของชึวิตก็ให้กำลังใจได้มิใช่น้อย ดังเช่นที่ว่าชีวิตเราจะมีค่าก็ขึ้นอยู่กับมุมมอง การใช้และการให้ความหมายต่อชีวิต ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการร่วมร้องเพลง "ยิ้มสู้" บทเพลงในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยกำลังใจปรากฏขี้นบนใบหน้าของทุกๆคน



วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552

Slow Living, Happy Life with Contemplative Art (Clinique 's event at Hyatt)






ศิลปะและความงามที่ยั่งยืนนั้นอาจมีความเชื่อมโยงกันตรงที่ล้วนกำเนิดมาจากภายใน ต้นกำเนิดของความงามและศิลปะนั้น อาจเกิดขึ้นมาจากภายในจิตที่บริสุทธิ์ของมนุษย์ ดังเช่น การมาเจอกันในงานเปิดตัว Slowing Living, happy life ของเครื่องสำอาง Clinique ที่ทาง artfield ได้ใช้ศิลปะแบบ "contemplative art" หรือ ศิลปะที่เกิดขึ้นจากการใคร่ครวญ และจิตที่นิ่งเป็นสมาธิในกระบวนการทำศิลปะ โดยในการเริ่มต้นของงานได้มีการบรรเลงเพลงดนตรีโกโตะ เครื่องดนตรีโบราณในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผสานการเดินจงกรมสมาธิไปพร้อมๆกับ การทำศิลปะสีน้ำแข็ง เสียงดนตรี จังหวะ และ ก้อนน้ำแข็งแม่สีที่ค่อยๆละลาย ผสมผสานก่อให้เกิดสีสันเฉดสีต่างๆ ถูกแต่งแต้มไปพร้อมๆกับก้าวย่างการเดิน อย่างช้าๆ ใคร่ครวญและเป็นสมาธิ ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และโดยไม่รู้ตัวได้ร่วมสร้างสรรค์สุนทรียภาพ แสดงออกมาเป็นภาพศิลปะอันงดงามให้ปรากฎอยู่บนผืนกระดาษอันว่างเปล่าที่ปูเป็นทางยาวไปตามทางเดิน ความงามที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากจินตนการของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เกิดจากการเข้าไปมีส่วนในประสบการณ์ร่วมกัน เป็นประสบการณ์ที่ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่ต้องประหลาดใจกับความงามที่เกิดขึ้นหลังจากได้การเข้าร่วมทำศิลปะนี้ ความประทับใจอย่างหนึ่งที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้คือ ใครๆก็สามารถทำศิลปะให้งดงามได้ และทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความงามนั้น




วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ศิลป์บำบัด "มหัศจรรย์ศิลป์บำบัด เหนือขีดจำกัดทางร่างกาย" ณ โรงพยาบาลศิริราช




ความมหัศจรรย์ของศิลปะบำบัดนั้นได้รับการพิสูจน์ให้เห็น โดยผ่านการทำกิจกรรมศิลป์บำบัดร่วมกับผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการขยับร่างกายได้เพียงบางส่วน รวมทั้งคณะแพทย์ และ พยาบาล ณ โรงพยาบาลศิริราช อารมณ์ที่ผ่อนคลายจากการท่องเที่ยวไปในโลกจินตนาการ ถูกแสดงออกผ่านทางกระดาษ พู่กัน และ สีน้ำ โดยมีสื่อนำประสบการณ์ สัมผัสทางด้าน เสียงผ่านดนตรีกู่ฉิน บทเพลงสุนทราภรณ์ และ ดนตรีเบาๆ ผสาน กับผัสสะการรับรส และ กลินผ่านการจิบน้ำผลไม้รวม และ สัมผัสทางการมองผ่านการใช้ สื่อธรรมชาติ ดอกไม้และใบไม้ ทำให้ช่วงเวลาในแต่ละหนึ่งวันที่ยาวนานกับการวิตกกังวลถึงข้อจำกัดทางด้านร่างกายนั้นถูกปิดไปชั่วคราว เกือบราวสองชั่วโมงที่ผ่านไปในการทำกิจกรรมศิลป์บำบัดนั้น ถูกทำให้เพลิดเพลินไปในการใช้จิตท่องเที่ยวไปในโลกแห่งจินตนาการและความรู้สึกที่เพลิดเพลิน สงบเป็นสมาธิ และบวกกับสุนทรียทางด้านอารมณ์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้รับการแสดงออกผ่านทางสีหน้า ท่าทาง และ เสียงหัวเราะภายในห้องทำกิจกรรมนั้น จนผู้เข้าร่วมรู้สึกว่าเวลาแห่งความสุขนั้นช่างสั้นเหลือเกิน

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ศิลป์บำบัด "หนูไม่ป่วย" ณ หอผู้ป่วยเด็กมะเร็งเรื้อรังโรงพยาบาลรามา

จากการทำศิลป์บำบัดกับ ผู้ป่วยเด็กมะเร็งเรื้อรังที่โรงพยาบาลรามา แล้วทำให้ได้บทสรุปจากมุมมองของเด็กๆ ว่าโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้ทำให้เขารู้สึกป่วย ความเพลิดเพลินขณะทำศิลปะนั้นแสดงออกถึงความสมดุลภายในจิตใจของเขา คงเป็นเพียงแค่สภาพสมดุลทางร่างกายที่ผิดปกติไปจากการชี้วัดทางการแพทย์ หรือเป็นแต่เพียงความกังวลของผู้ใหญ่ที่ทำให้โรคภัยดูจะเลวร้ายลงไป หนึ่งในกิจกรรมจำนวนสิบครั้งของการปฏิบัติการได้ให้เด็กวาดภาพที่สื่อถึง พลังลบ ความเจ็บปวด แต่ไม่มีใครสามารถวาดได้ แสดงว่าความเจ็บป่วยนั้นอาจเป็นเพียงแค่ความรู้สึกที่ไม่ได้มีอยู่จริงภายในจิตใจของเด็กๆ จึงไม่มีใครสามารถแสดงออกมาได้ แต่จินตนาการในการวาดรูปอื่นๆ นั้นเด็กๆ สามารถถ่ายทอดสะท้อนออกมาได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ศิลป์บำบัด"พลังลบที่ถูกกลบด้วยพลังบวก" ณ ศูนย์มะเร็งชลบุรี







โดยไม่รู้ตัวเราอาจไม่มีวิธีใดที่จะรู้จักกับจิตใจตัวเองได้ดีเพียงพอ ว่าโดยลึกๆแล้วภายในจิตใต้สำนึกของเรานั้นยังมีพลังทางด้านลบที่ถูกเก็บกักเอาไว้อยู่ และอีกทั้งยังไม่รู้จะหาวิธีใดที่จะจัดการกับพลังทางด้านลบนั้น แท้จริงแล้วพลังด้านในนั้นสามารถถูกเปิดออกได้ผ่านขบวนการทำศิลปะ โดยขบวนการศิลป์บำบัดนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถหาวิธีที่จะแสดงออกถึงพลังทางด้านลบนั้น และ ค้นหาพลังทางด้านบวกที่มีอยู่ในตัวเราทุกๆคน และผู้คนที่อยู่รอบๆตัวเรา มาแลกเปลี่ยนแบ่งปันถ่ายทอดซึ่งกันและกัน ทำให้เห็นว่าใช่แต่จะมีพลังทางด้านลบอย่างเดียวที่เป็นพลังผลักดันในการดำเนินชีวิต แต่กลับเห็นว่ายังมีพลังทั้งทางด้านบวกและลบ หรือแม้แต่พลังที่ไม่เป็นทั้งบวกและลบ อยู่ในตัวเราทุกๆคน เพียงแต่เราจะยอมให้พลังด้านใดเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตเรา

ศิลป์บำบัด "ศิลปะบำบัดได้จริงหรือ?" ณ ศูนย์มะเร็งชลบุรี








มีเสียง เสียงหนึ่งของพยาบาลที่บอกออกมาก่อนเริ่มทำกิจกรรมว่า "ไม่เชื่อว่าศิลปะสามารถรักษาโรคได้" แต่หลังผ่านกระบวนการทำศิลปะร่วมกับทาง artfield พี่คนนั้นก็เปลี่ยนใจว่า ศิลปะช่วยให้ความเจ็บป่วยทางกายหายได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การมองเห็นทางรูปกาย แต่เป็นมุมมองของผู้ทำเองที่เกิดจากการทำศิลปะว่า ความป่วยไข้ที่เกิดขึ้นทางกายนั้นแท้จริงแล้วมีจุดเริ่มต้นมาจากจิตใจ และศิลปะก็เป็นสื่อที่สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงภายในจิตใจของผู้ทำศิลปะนั้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมศิลปะถึงรักษาโรคได้จริง ไม่เป็นเพียงแค่การรักษาโรคที่เกิดขึ้นมาแล้วเท่านั้น แต่ยังเป็นการป้องกันไม่ให้โรคนั้นเกิดขึ้นและลุกลามต่อไปได้ เปรียบเสมือนการแก้ที่ต้นเหตุแห่งโรคนั้นจริงๆ

วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ศิลป์บำบัด ที่ศูนย์สิรินธรฯ, There is no health without mental health




ศิลปะบำบัดและดนตรีบำบัดเป็นการผสมผสานองค์ประกอบที่สามารถสร้างพื้นที่ ที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงออกถึงอารมณ์ที่ถูกเก็บเอาไว้ในยามเจ็บป่วย จากการทำworkshopครั้งนี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าเมื่อคนเราได้เข้าไปสัมผัสกับศิลปะ ณ ช่วงเวลาหนึ่งนั้น เราสามารถก้าวข้ามผ่านความเจ็บป่วยทางกายได้
ในกิจกรรมนี้มีการใช้ดนตรีกู่ฉินซึ่งเป็นดนตรีที่ให้อารมณ์ความรู้สึกสะท้อนถึงธรรมชาติ สามารถส่งผลต่อการควบคุมจิตใจในการทำสมาธิได้ดี และส่งเสริมกระบวนการศิลปะที่สอดคล้องไปในที่ว่างได้อย่างกลมเกลียวและกลมกลืน

ศิลป์บำบัด "เริ่มที่เรา" ศูนย์มะเร็งวชิราลงกรณ์ ธัญบุรี





การบำบัดรักษาที่เริ่มจากตนเองก่อน ถือเป็นการบำบัดรักษาที่ยั่งยืน การจัด workshop ครั้งนี้เป็นการได้ร่วมงานกับกลุ่มพยาบาล ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและศักยภาพในการดูแล รักษา ต่อผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลรักษาทั้งทางด้านร่างกายและ ที่สำคัญยิ่งคือจิตใจ การได้ลงมือทำจริง โดยการใช้สื่อศิลปะที่เหมาะสม ในพื้นที่ที่ผ่อนคลาย เป็นข้อพิสูจน์ยืนยันว่าศิลปะมีศักยภาพในการรักษาผู้ที่เปิดใจรับด้วยความอ่อนโยน